รัฐบาล ทำการเปิดเผยถึง มาตรการแก้หมูแพง โดยทำการงดส่งออกเป็นระยะเวลาสั้น และทำการลดต้นทุน ส่งเสริมการเลี้ยง พร้อมทั้งจัดการดูแลทั้งระบบ มาตรการแก้หมูแพง – วันที่ 6 มกราคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาเนื้อหมูราคาแพง สืบเนื่องจากปริมาณสุกรที่ลดลง ต้นทุนการเลี้ยงสุกรปรับสูงขึ้น ส่งผลให้เนื้อหมูปัจจุบันมีราคาสูงมาก ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือร่วมกัน และได้ข้อสรุปดังนี้
1. มาตรการเร่งด่วน
-การห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 65 ถึง วันที่ 5 เม.ย. 65 เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ และกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตามสถานการณ์ว่าควรให้มีการต่ออายุหรือไม่ โดยจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตัวเลขเบื้องต้นในปี 2564 มีการเลี้ยงหมูป้อนเข้าสู่ตลาด ประมาณ 19 ล้านตัว บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัว
-การช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี การจัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่อโรคระบาดต่ำ การตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น
-การเร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน โดยให้เกษตรกรใช้สุกรขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราว เร่งรัดเจรจาฟาร์มรายใหญ่ในการกระจายพันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยและเล็กที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่ กำหนดโซนเลี้ยงและออกมาตรการบังคับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค และเร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค
2. มาตรการระยะสั้น การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การขยายกำลังผลิตแม่สุกร สนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน เร่งเดินหน้าการศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด
3. มาตรการระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ จะผลักดันการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค
ทั้งยังจะมีการสนับสนุนการเลี้ยงโดยจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ในโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งการรวมกลุ่ม สนับสนุน และหาตลาดในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้อย่างดี
‘ประยุทธ์’ สั่ง ประเมินสถานการณ์โควิด 1 เดือนหลังปีใหม่
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการ ภาคธุรกิจ เอกชน กลับมาเปิดดำเนินปกติ เพื่อเตรียมแนวทางการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ต่าง ๆให้ทันสถานการณ์ พร้อมนำเข้าสู่พิจารณาเพื่อปรับมาตรการในที่ประชุม ศบค. ในวันที่ 7 มกราคมนี้
นายธนกร กล่าวว่า โดยในวันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 3,899 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 3,648 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 14 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ ที่ต้องขัง 68 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 169 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 34,877 ราย และมียอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,508 ราย
ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 จำนวน 2,210,612 ราย จำนวนผู้ที่หายป่วยสะสมจำนวน 2,155,403 ราย ขณะที่สรุปผลการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม ตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 – 4 ม.ค. 2565 อยู่ที่ 105,012,701 โดส ใน 77 จังหวัด
โดยแบ่งเป็น จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 51,314,397 ราย ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 สะสม 46,282,489 ราย ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 สะสม 7,152,002 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 สะสม 263,813 ราย
นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลจะทำการประเมินสถานการณ์การติดเชื้อระลอกหลังปีใหม่เป็นเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ โดย 2 สัปดาห์แรกจะประเมินสถานการณ์ จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ ส่วน 2 สัปดาห์หลังจะประเมินผู้ป่วยอาการหนักและอัตราการเสียชีวิต ก่อนตัดสินใจปรับมาตรการต่าง ๆ ขอความร่วมมือประชาชน
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื่อรัง สตรีมีครรภ์ ติดต่อขอรับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด หรือหากเคยฉีดแล้วก็ควรติดต่อขอฉีดเข็มกระตุ้น เนื่องจากวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 สามารถลดการป่วยหนักและอัตราการเสียชีวิตได้
นายธนกร กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ หรือเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยง ตามที่ประกาศไว้ ขอให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการเฝ้าระวังตนเอง กักตัว และควรเข้าตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19 ทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู้ผู้อื่น และลดอัตราการป่วยหนักของตนเอง
Credit : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว | แต่งบ้านและสวน | พระเครื่อง | รีวิวกล้องถ่ายรูป